Neuilly, Treaty of

สนธิสัญญาเนยยี

​​     สนธิสัญญาเนยยี หรือสนธิสัญญาเนยยี-ซูร์-แซน (Treaty of Neuilly-sur-Seine) เป็นสนธิสัญญาที่กระทำขึ้นระหว่างประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* กับบัลแกเรียซึ่งเป็นฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Central Powers)* อันสืบเนื่องมาจากการประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส (Paris Peace Conference)* หลังสงครามสิ้นสุดลง บัลแกเรียทำความตกลงหยุดยิงกับฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นประเทศแรกเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ค.ศ. ๑๙๑๘ เพราะอ่อนล้าเต็มทีกับการทำสงครามที่เคยคิดว่าจะก่อประโยชน์ให้แก่ตนสนธิสัญญาเนยยีทำให้บัลแกเรียสูญเสียทั้งดินแดน ค่า ปฏิกรรมสงคราม และถูกลิดรอนกำลังพลจนเหตุการณครั้งนี้ในประวัติศาสตร์ของบัลแกเรียเรียกว่า หายนภัยแห่งชาติ (National Catastrophe)
     ความเป็นมาของการที่บัลแกเรียเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ ๑ และจำต้องยอมรับข้อกำหนดต่าง ๆ ในสนธิสัญญาเนยยีนั้นสืบย้อนไปตั้งแต่สงครามบอลข่าน (Balkan Wars)* ครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒ ซึ่งบัลแกเรียมีบทบาทสำคัญเพราะมุ่งมั่นที่จะขยายดินแดนของตนนับแต่ครั้งนั้นและพยายามเรื่อยมาจนกระทั่งเข้าร่วมสงครามโลก เมื่ออำนาจการปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)* หรือตุรกีในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เสื่อมลงมากจนได้ฉายาว่า คนป่วยแห่งยุโรป (The Sick Man of Europe) บรรดารัฐในคาบสมุทรบอลข่านที่ เคยอยู่ในเขตอำนาจจึงพยายามแยกตัวเป็นอิสระ สำหรับบัลแกเรียซึ่งเคยเป็นจักรวรรดิมาก่อนที่จะตกอยู่ใต้การปกครองของเติร์กเป็นเวลา ๕๐๐ ปีนั้นเป็นราชรัฐปกครองตนเอง (autonomous principality) ใน จักรวรรดิออตโตมัน แต่ตามสนธิสัญญาซานสเตฟาโน (Treay of San Stefano)* ซึ่งจัดทำขึ้นหลังสงครามรัสเซีย-ตุรกี ค.ศ. ๑๘๗๗-๑๘๗๘ และสนธิสัญญาเบอร์ลิน (Treaty of Berlin) ค.ศ. ๑๘๗๘ บัลแกเรียมีสถานภาพเป็นรัฐกึ่งเอกราช โดยมีเจ้าชายอะเล็กซานเดอร์ ฟอน บัทเทนแบร์ก (Alexander von Battenberg) พระภาคิไนยในซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๒ (Alexander II)* แห่งรัสเซียเป็นประมุขต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๘๖ ก็ทรงถูกกดดันให้สละราชย์ บัลแกเรียซึ่งได้รับการยอมรับความเป็นเอกราชจากตุรกีในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๐๙ ถือกันว่าเป็นประเทศในคาบสมุทรบอลข่านที่เข้มแข็งมากที่สุดจนได้ฉายาว่า ปรัสเซียแห่งชาติบอลข่าน (Prussia of the Balkans) เพราะมีกำลังทหารแข็งกล้ามากกว่าอีกสามประเทศบอลข่าน ได้แก่ เซอร์เบีย มอนเตเนโกร และกรีซอีกทั้งทหารของบัลแกเรียก็ได้รับการฝึกฝน อย่างดี มีวินัย และมีความพร้อมทางด้านยุทธศาสตร์
     ใน ค.ศ. ๑๙๑๑ อิตาลีบุกตริโปลีเตเนีย (Tripolitania) และต่อมาก็ครอบครองหมู่เกาะโดเดคานีส (Dodecanese)* ของจักรวรรดิออตโตมัน การมีชัยชนะอย่างรวดเร็วของอิตาลีทำให้ประเทศในคาบสมุทรบอลข่านเตรียมรบกับตุรกีบ้างเพื่อช่วงชิงดินแดนของจักรวรรดิให้แก่ตนเอง ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๒ มีการทำความตกลงฉันทไมตรีระดับทวิภาคี (bilateral Ententes) ในหมู่ประเทศบอลข่าน ๔ แห่ง เพื่อป้องกันไม่ให้จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austria-Hungary)* ได้ประโยชน์เพิ่มเติมจากดินแดนของตุรกี จึงเกิดเป็นกลุ่มพันธมิตรทางทหารขึ้นที่เรียกกันว่า สันนิบาตบอลข่าน (Balkan League) บรรดาประเทศมหาอำนาจโดยเฉพาะฝรั่งเศสและออสเตรีย-ฮังการีพยายามจะ หน่วงเหนี่ยวไม่ให้สันนิบาตนี้ก่อสงครามกับตุรกี เพราะรู้ว่าทั้ง ๔ ประเทศต่างหมายปองดินแดนของตุรกีอยู่โดยเฉพาะเซอร์เบียซึ่งผิดหวังกับการที่ออสเตรีย-ฮังการีผนวกบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา (Bosnia-Herzegovina) ใน ค.ศ. ๑๙๐๘ ก็มุ่งหวังที่จะได้แคว้นคอซอวอ (Kosovo)* ส่วนกรีซก็มุ่งหวังเกาะครีต (Crete)* บัลแกเรียต้องการแคว้นเทรซ (Thrace) และมาซิโดเนีย (Macedonia) แต่มอนเตเนโกรประกาศสงครามต่อตุรกีเป็นประเทศแรกในวันที่ ๒๕ กันยายน ค.ศ. ๑๙๑๒ อีก ๓ ประเทศได้ประกาศตามในวันที่ ๑๗ ตุลาคม หลังจากได้ยื่นคำขาดที่เกินกว่าที่ตุรกีจะปฏิบัติตามได้เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคมสงครามบอลข่านครั้งที่ ๑ (ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๒ - พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๑๓) จึงเกิดขึ้น แต่สี่ประเทศพันธมิตรไม่ได้ประสานการรบร่วมกันต่างฝ่ายต่างรบไป จึงเกิดการรบในสมรภูมิ ๒๔ แห่งในแนวรบ ๔ ด้านตามสภาพภูมิศาสตร์ที่แยกจากกันบัลแกเรียปะทะกับกำลังของตุรกีที่เทรซซึ่งป้องกันเส้นทางสู่กรุงคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) เซอร์เบียและมอนเตเนโกรรบในคอซอวอ มาซิโดเนียตอน เหนือและแอลเบเนีย (Albania) ส่วนกรีซรบทางใต้ของมาซิโดเนียเพื่อครอบครองเมืองซาโลนิกา (Salonika) และในเอปีรุส (Epirus) เพื่อได้ดินแดนโยอานีนา (Ioannina)
     กองทัพบัลแกเรียของพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ ๑ มีกำลังทหาร ๓๑๐,๐๐๐ คน และมีทัพเรือขนาดเล็กที่มีเรือตอร์ปิโด ๖ ลำซึ่งปฏิบัติการจำกัดอยู่ตามพรมแดนที่ติดชายฝั่งทะเลดำ บัลแกเรียมุ่งหวังจะได้เทรซและมาซิโดเนียโดยเฉพาะนครซาโลนิกาเป็นที่หมายปองมาก หลังจากบัลแกเรียและพันธมิตรเอาชนะกองทัพตุรกีได้ในสมรภูมิหลายแห่ง ตุรกีจึงยินยอมทำสัญญาหยุดยิงกับบัลแกเรียในวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน มีการเจรจาสันติภาพที่กรุงลอนดอน แต่การรบเกิดขึ้นใหม่ในวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๑๓ เมื่อข้อตกลง หยุดยิงสิ้นสุดลง ในที่สุดตุรกีก็แพ้อย่างเด็ดขาดในวันที่ ๑๗ พฤษภาคมปีเดียวกัน และต้องยอมลงนามในสนธิสัญญาลอนดอนซึ่งเป็นการยุติสงครามบอลข่านครั้งที่ ๑ แต่ข้อพิพาทเกี่ยวกับดินแดนต่าง ๆ ที่กลุ่มประเทศบอลข่านจับจ้องอยู่ยังไม่ได้ข้อยุติ
     สงครามบอลข่านครั้งที่ ๑ ทำให้ประเทศสันนิบาตบอลข่านได้ครอบครองดินแดนในยุโรปของตุรกีอันได้แก่ เทรซ มาซิโดเนีย และอัลแบเนีย ตุรกีคงครอบ ครองแต่เพียงคาบสมุทรชาตัลจา (Chatalja) และคาบสมุทรกัลลิโพลี (Gallipoli) แต่สนธิสัญญาลอนดอนที่ยุติสงครามรับรองแต่เพียงว่ากลุ่มประเทศบอลข่านได้ดินแดนทางตะวันตกของเส้นเอนอส-เมเดีย (Enos- Medea) และให้จัดตั้งอัลแบเนียเป็นประเทศอิสระขึ้นแต่สนธิสัญญาไม่ทำให้ชาติใดรู้สึกพอใจ เพราะไม่ได้ทำความตกลงเกี่ยวกับการแบ่งดินแดนที่แย่งชิงได้จากตุรกีโดยเฉพาะมาซิโดเนียที่ บัลแกเรียต้องการครอบครองแต่ประเทศเดียว ที่ประชุมที่กรุงลอนดอนกลับรับรองการมีสถานะเดิมของคาบสมุทรบอลข่านซึ่งเท่ากับว่า ดินแดนต่าง ๆ ยังคงอยู่กับประเทศที่ยึดครองอยู่บัลแกเรียเห็นว่าดินแดนที่ ได้รับโดยเฉพาะในมาซิโดเนียนั้นน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับบทบาทของตนที่ได้ลงแรงไปในการทำสงคราม จึงอ้างสิทธิเหนือนครซาโลนิกาซึ่งขณะนั้นมีกองกำลังของบัลแกเรียประจำการอยู่ กรีซและเซอร์เบียซึ่งไม่พอใจอยู่แล้วที่ต้องย้ายผู้คนออกจากอัลแบเนียที่จะมีฐานะเป็นประเทศใหม่ ยังเห็นว่าข้อเรียกร้องของบัลแกเรียเป็นการคุกคามตน ทั้ง ๒ ประเทศจึงหันมาปรองดองกันและร่วมลงนามเป็นพันธมิตรทางทหารเพื่อป้องกันไม่ให้บัลแกเรียขยายดินแดน ต่อมาบัลแกเรียก็เกิดกรณีพิพาทกับโรมาเนียเพราะโรมาเนียอ้างสิทธิเหนือป้อมซิลิสเตรีย (Silistria) ของบัลแกเรียที่ตั้งริมฝั่งแม่น้ำดานูบ (Danube) เพื่อเป็นข้อตอบแทนที่ โรมาเนียรักษาความเป็นกลางในสงครามบอลข่านครั้งที่ ๑
     รัสเซียซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับทั้งเซอร์เบียและบัลแกเรียพยายามไกล่เกลี่ย แต่การที่รัสเซียไม่อยากสูญเสียพันธมิตรในบอลข่านทั้งคู่ทำให้การดำเนินการเชื่องช้ามาก ระหว่างการเจรจาก็มีการปะทะประปรายระหว่างทหารเซอร์เบียกับบัลแกเรีย ในวันที่ ๑๖ มิถุนายน กองทัพบัลแกเรียส่งทหารโจมตีที่มั่นของเซอร์เบียและกรีซโดยไม่แจ้งต่อรัฐบาลของบัลแกเรียก่อนการประกาศสงครามจึงได้ตามมา สงครามบอลข่านครั้งที่ ๒ (มิถุนายน-กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๓) จึงเกิดขึ้นเพราะบัลแกเรียต้องการมาซิโดเนียและเป็นใหญ่เหนือประเทศบอลข่านอื่น ๆ ส่วนเซอร์เบียและกรีซต้องการรักษาที่มั่นของตนในมาซิโดเนีย และไม่ให้บัลแกเรียครอบงำคาบสมุทรบอลข่าน
     บัลแกเรียซึ่งมีทหาร ๕๐๐,๐๐๐ คน เป็นฝ่ายปราชัยในสงครามที่ ต้องสู้กับ กรีซ และเซอร์เบีย ที่มีมอนเตเนโกร โรมาเนีย และตุรกีเข้าร่วมสนับสนุน มีการลงนามในสนธิสัญญาบูคาเรสต์ (Treaty of Bucharest)* ระหว่างผู้แทนประเทศต่าง ๆ ในวันที่ ๑๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๓ ซึ่งระบุว่า (๑) เซอร์เบียได้ครอบครองตอนกลางของมาซิโดเนีย ซึ่งทำให้ได้ประชากรเพิ่มขึ้นกว่า ๑,๕๐๐,๐๐๐ คน และพื้นที่เพิ่มจาก ๔๘,๓๐๓ เป็น ๘๗,๗๗๗ ตารางกิโลเมตร (๒) กรีซได้ครอบครอง ดินแดนทางใต้ของมาซิโดเนียซึ่งทำให้บัลแกเรียสูญเสียเส้นทางโดยตรงเข้าสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และยังได้เกาะครีต (๓) โรมาเนียได้ดินแดนดอบรูจาใต้ (Southern Dobruja) และภาคใต้ของดอบรูจาเหนือ (Northern Dobruja) ซึ่งเป็นเขตปลูกข้าวสาลีของบัลแกเรีย และ บัลแกเรียต้องรื้อถอนป้อมต่าง ๆ ที่มีอยู่ (๔) บัลแกเรียสูญเสียดินแดนส่วนใหญ่ที่ได้จากสงครามบอลข่านครั้งที่ ๑ ซึ่งได้แก่ ดอบรูจาใต้ และมาซิโดเนีย ได้ครอบครอง แต่เพียงพิรินมาซิโดเนีย (Pirin Macedonia) ซึ่งรวมเมืองสตรูมิกา (Strumica) เทรซตะวันตก และเนื้อที่ริมฝั่งทะเลอีเจียน (Aegean Sea) ๑๑๒ กิโลเมตร คือประมาณ ๒๕,๐๒๗ ตารางกิโลเมตร ประชากรเพิ่มขึ้นอีก ๑๒๙,๔๙๐ คน
     บัลแกเรียเห็นว่าผลที่ได้รับไม่คุ้มกับที่ลงทุนเปิดฉากสงครามบอลข่านครั้งที่ ๒ กับกลุ่มประเทศพันธมิตรเดิมของตนและยังไม่ได้ครอบครองมาซิโดเนีย โดยได้รับเพียงช่องทางเล็กที่เปิดสู่ทะเลอีเจียนบริเวณรอบเมืองท่าเล็ก ๆ ชื่อเดเดอากัช (Dede Agach) จึงหมดหวังที่จะได้เป็นใหญ่เหนือชาติอื่นในคาบสมุทรบอลข่าน ส่วนเซอร์เบียกลายเป็นมหาอำนาจสำคัญของภูมิภาคนี้ซึ่งทำให้ออสเตรีย-ฮังการีตื่นตระหนก และเป็นสาเหตุโดยอ้อมประการหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ ๑ ต่อมา
     เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ขึ้น บัลแกเรียเข้าข้างกับฝ่ายมหาอำนาจกลางซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับกลุ่มพันธมิตรเดิมของตนเพราะหวังจะได้คืนดินแดนในคาบสมุทรบอลข่านที่เสียไป เมื่อโรมาเนียซึ่งสนับสนุนฝรั่งเศสและรัสเซียพ่ายแพ้ในระหว่างสงคราม ฝ่ายมหาอำนาจกลางจึงได้เข้าครอบครองดอบรูจาทั้งหมดและยกดอบรูจาใต้และภาคใต้ของดอบรูจาเหนือให้แก่บัลแกเรียตามสนธิสัญญาบูคาเรสต์ ค.ศ. ๑๙๑๘ แต่การครอบครองเป็นเพียงช่วงสั้น ๆ เท่านั้น เพราะต่อมา กระแสสงครามเปลี่ยนและก่อนที่ฝ่ายมหาอำนาจกลางจะพ่ายแพ้ บัลแกเรียซึ่งเหนื่อยล้ากับการศึกจึงเป็นประเทศแรกของฝ่ายมหาอำนาจกลางที่ขอยุติการรบกับฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ค.ศ. ๑๙๑๘ หลังจากการประชุมสันติภาพที่พระราชวังแวร์ซาย (Versailles) กรุงปารีส บัลแกเรียต้องลงนามในสนธิสัญญาเนยยีกับผู้แทนประเทศสัมพันธมิตรที่ปราสาทเนยยี (Neuilly Castle) ที่ตั้งอยู่ในเขตเนยยี-ซูร์-แซนซึ่งเป็นเขตที่พักอาศัยชานกรุงปารีสทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
     สนธิสัญญาเนยยีที่ลงนามเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๙ ซึ่งมีผลบังคับเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ นั้นบัลแกเรียต้องเสียดินแดนชายขอบตะวันตกให้แก่เซอร์เบียเทรซตะวันตก (Western Thrace) ให้แก่กรีซ พื้นที่ตามพรมแดนบางแห่งให้แก่ยูโกสลาเวียซึ่งเป็นประเทศใหม่ในคาบสมุทรบอลข่านที่จัดตั้งขึ้นซึ่งบัลแกเรียจำต้องรับรองการเป็นเอกราช และต้องคืนดินแดนดอบรูจาให้โรมาเนียดังเดิมนอกจากนี้ บัลแกเรียยังสูญเสียมาซิโดเนียส่วนที่เหลืออยู่และไม่มีทางออกออกทะเลอีเจียน ต้องลดกำลังกองทัพให้เหลือทหารเพียง ๒๐,๐๐๐ คน ต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามประมาณ ๔๔๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (แต่ภายหลัง ร้อยละ ๗๕ ของเงินจำนวนนี้ได้ยกเลิกไป) พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ ๑ ก็ต้องสละราชสมบัติให้พระราชโอรสซึ่งขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าบอริสที่ ๓ (Boris III) อย่างไรก็ดี วุฒิสภาสหรัฐอเมริกาปฏิเสธที่จะให้สัตยาบันข้อตกลงสันติภาพฉบับต่าง ๆ ที่เจรจาที่กรุงปารีสรวมทั้งสนธิสัญญาเนยยีด้วย ดังนั้น บัลแกเรียกับสหรัฐอเมริกาจึงได้ลงนามในสนธิสัญญาแห่งความปรองดองระหว่างบัลแกเรียกับสหรัฐอเมริกา (Treaty of Conciliation between Bulgaria and the United States) โดยมีการลงนามที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๒๙
     ผลของสงครามบอลข่านทั้ง ๒ ครั้ง และสงครามโลกครั้งที่ ๑ ทำให้มีผู้ลี้ภัยชาวบัลแกเรียอพยพออกจากมาซิโดเนีย เทรซตะวันตก เทรซตะวันออก และดอบรูจา ใต้ประมาณ ๒๕๐,๐๐๐ คน จำนวนผู้ลี้ภัยชาวบัลแกเรียได้เพิ่มขึ้นในทศวรรษ ๑๙๓๐ เมื่อเซอร์เบียใช้นโยบายคุกคามชาวบัลแกเรียในเขตครอบครองมากขึ้น นอกจากนี้ สำหรับดินแดนดอบรูจาซึ่งอยู่ระหว่างแม่น้ำดานูบตอนล่างกับทะเลดำ รวมทั้งสามเหลี่ยมปากแม่น้ำดานูบที่เป็นดินแดนในจักรวรรดิออตโตมันและเป็นหัวข้อพิพาทยาวนานระหว่างโรมาเนียกับบัลแกเรียนั้นตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๗๘ ถูกระบุให้ส่วนเหนือเป็นของโรมาเนีย และส่วนใต้เป็นของบัลแกเรีย ทั้งสองประเทศก็พิพาทแย่งชิงกันครอบครองดอบรูจาทั้งหมดเรื่อยมาจนโรมาเนียได้ส่วนใต้ของบัลแกเรียไปตามสนธิสัญญาเนยยีนั้น ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๔๐ ซึ่งอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ และบัลแกเรียเข้าข้างประเทศฝ่ายอักษะ (Axis Powers) บัลแกเรียก็ได้ดอบรูจาใต้คืนมาตามสนธิสัญญาคราโยวา (Treaty of Craiova) ที่ฝ่ายอักษะจัดทำขึ้นโดยเพิกเฉยต่อการคัดค้านของโรมาเนียด้วยเหตุผลว่าชาวบัลแกเรียอาศัยอยู่ในเขตนี้ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๗ ชาวโรมาเนียจึงถูกบังคับให้อพยพออกจากที่ดินที่ได้ครอบครองตามสนธิสัญญาเนยยี และชาวบัลแกเรียส่วนน้อยก็ให้อพยพออกจากเขตดอบรูจาเหนือลงมาดอบรูจาใต้อันเป็นการแลกเปลี่ยนประชากรกัน พรมแดนของดอบรูจาเหนือและใต้ที่ ระบุใน ค.ศ. ๑๙๔๐ ก็ได้รับการยืนยันรับรองอีกครั้งจากการประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส (กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ - กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๗) ระหว่างประเทศพันธมิตรกับกลุ่มประเทศพันธมิตรของเยอรมนี ๕ ประเทศ อันได้แก่ บัลแกเรีย ฮังการี ฟินแลนด์ อิตาลี และโรมาเนีย ด้วยเหตุนี้ดอบรูจาเหนือปัจจุบันจึงอยู่ในโรมาเนีย ส่วนดอบรูจาใต้อยู่ในบัลแกเรี



คำตั้ง
Neuilly, Treaty of
คำเทียบ
สนธิสัญญาเนยยี
คำสำคัญ
- อักษะ, ฝ่าย
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สนธิสัญญาคราโยวา
- อีเจียน, ทะเล
- สนธิสัญญาแห่งความปรองดองระหว่างบัลแกเรียกับสหรัฐอเมริกา
- สตรูมิกา, เมือง
- บอริสที่ ๓, พระเจ้า
- แวร์ซาย, พระราชวัง
- ดอบรูจาเหนือ
- เนยยี, ปราสาท
- เส้นเอนอส-เมเดีย
- การประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส
- สนธิสัญญาเนยยี
- มหาอำนาจกลาง
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สนธิสัญญาเนยยี-ซูร์-แซน
- ครีต, เกาะ
- คอนสแตนติโนเปิล, กรุง
- คอซอวอ, แคว้น
- ซาโลนิกา, เมือง
- โดเดคะนีส, หมู่เกาะ
- ตริโปลีเตเนีย
- เทรซ, แคว้น
- สงครามบอลข่าน
- มาซิโดเนีย
- สนธิสัญญาซานสเตฟาโน
- สนธิสัญญาเบอร์ลิน
- ออตโตมัน, จักรวรรดิ
- สันนิบาตบอลข่าน
- ออสเตรีย-ฮังการี, จักรวรรดิ
- อะเล็กซานเดอร์ ฟอน บัทเทนแบร์ก, เจ้าชาย
- อะเล็กซานเดอร์ที่ ๒, ซาร์
- เอปีรุส
- กัลลิโพลี, คาบสมุทร
- ซิลิสเตรีย, ป้อม
- ชาตัลจา, คาบสมุทร
- ดอบรูจาใต้, ดินแดน
- ดานูบ, แม่น้ำ
- สนธิสัญญาบูคาเรสต์
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 6.N 577-752.pdf